*ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2024

*คำถามแต่ละข้ออาจมีข้อความบางส่วนที่อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดฟุกุชิมะเราได้จัดทำให้ชาวต่างชาติสามารถค้นหาได้ง่ายขึ้นโดยจัดโครงสร้างคำถามตามข้อสงสัยอย่างตรงไปตรงมาของชาวต่างชาติจำนวนมากที่มีต่อฟุกุชิมะโดยอาศัยแบบสอบถามเบื้องต้นที่ดำเนินการโดยสำนักงานการบูรณะ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

การฟื้นฟูฟุกุชิมะ

  • Q
    สภาพการฟื้นฟูฟุกุชิมะในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

    การฟื้นฟูมีความคืบหน้าในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การส่งออก และอื่น ๆ

  • Q
    มีนักท่องเที่ยวไปฟุกุชิมะบ้างหรือไม่

    นักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมากตามการฟื้นฟูที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

  • Q
    แหล่งท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว และอาหารในฟุกุชิมะที่ชาวต่างชาตินิยมกันมีอะไรบ้าง

    เสน่ห์ที่น่าสนใจที่สุดของฟุกุชิมะคือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ตระการตา นอกจากนี้ยังมีสถานที่ที่น่าเที่ยวชมอีกมากมายจนไล่เรียงในที่นี้ได้ไม่หมด อย่างเช่น ประวัติศาสตร์ ออนเซ็น อาหารเลิศรส เป็นต้น

ความปลอดภัยในฟุกุชิมะ

  • Q
    ปริมาณรังสีในจังหวัดฟุกุชิมะมีประมาณเท่าใด

    ปริมาณรังสีในเมืองใหญ่ ๆ ภายในจังหวัดฟุกุชิมะมีปริมาณไม่ต่างไปจากโตเกียวและเมืองใหญ่ทั่วโลก

  • Q
    มีการวัดปริมาณรังสีอย่างไรบ้าง

    จะมีการวัดอัตราปริมาณความเข้มรังสีในอากาศโดยใช้เสาเฝ้าระวังแบบเคลื่อนย้ายได้ ระบบวัดปริมาณรังสีแบบเรียลไทม์ ฯลฯ โดยจะเผยแพร่ผลการวัดแบบเรียลไทม์ทุก 10 นาทีบนเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐ

  • Q
    จังหวัดฟุกุชิมะถูกปนเปื้อนกัมมันตรังสีทั้งจังหวัดใช่หรือไม่

    มีการกำจัดสารกัมมันตรังสีเรียบร้อยแล้วในเขตที่กำหนดว่าจะกำจัดการปนเปื้อน ยกเว้นในเขตที่กลับภูมิลำเนาได้ยาก

  • Q
    ปริมาณรังสีรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในระดับสูงใช่หรือไม่

    บางเขตมีค่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่จะมีการควบคุมไม่ให้เข้าไปในสถานที่ดังกล่าว

  • Q
    ผู้คนสามารถอาศัยอยู่ในฟุกุชิมะได้หรือไม่

    พื้นที่ 97.8 เปอร์เซ็นต์ในจังหวัดฟุกุชิมะ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 1.75 ล้านคน

  • Q
    เมืองต่าง ๆ ที่อยู่รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปัจจุบันก็ยังคงห้ามไม่ให้เข้าไปใช่หรือไม่

    มีการจำกัดไม่ให้เข้าไปเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น และพื้นที่เหล่านี้ก็มีจำนวนน้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกหลังเกิดแผ่นดินไหว

  • Q
    มีหน่วยงานภายนอกคอยตรวจสอบความปลอดภัยของฟุกุชิมะหรือไม่

    ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือเรียกย่อว่า IAEA) ได้ประเมินโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ว่า “ได้เปลี่ยนผ่านสู่สภาวะที่เสถียรแล้ว” นอกจากนี้แล้ว องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือเรียกย่อว่า WHO) และคณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติว่าด้วยผลกระทบจากรังสีปรมาณู (UN Scientific Committee on the Effects of Atomic Radiation หรือเรียกย่อว่า UNSCEAR) ยังได้ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในฟุกุชิมะไว้ว่า “มีความเป็นไปได้น้อยที่จะตรวจพบผลกระทบด้านสุขภาพจากกัมมันตรังสีที่เกิดจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์”

  • Q
    ชาวจังหวัดฟุกุชิมะประสบกับปัญหาด้านสุขภาพใช่หรือไม่

    ณ ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาด้านสุขภาพจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี แม้จะพิจารณาจากปริมาณรังสีที่มีการสัมผัสหลังเกิดอุบัติเหตุ ก็ยังประเมินได้ว่าเป็นไปได้ยากที่จะส่งผลกระทบด้านสุขภาพในอนาคต

  • Q
    จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในจังหวัดฟุกุชิมะเพิ่มสูงขึ้นใช่หรือไม่

    แม้จะพิจารณาจากปริมาณรังสีที่มีการสัมผัสหลังเกิดอุบัติเหตุ ก็ยังประเมินได้ว่าเป็นไปได้ยากที่จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นในอนาคต

ความปลอดภัยด้านอาหารและน้ำดื่มในญี่ปุ่นและฟุกุชิมะ

  • Q
    อาหารของฟุกุชิมะปลอดภัยหรือไม่

    ไม่ใช่เฉพาะเพียงฟุกุชิมะเท่านั้น แต่ความปลอดภัยของอาหารในญี่ปุ่นมีการกำหนดเกณฑ์ให้อยู่ในระดับที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อาหารที่ผ่านการตรวจสอบว่าปลอดภัยแล้วจึงจะถูกกระจายออกสู่ตลาด

  • Q
    มีการดำเนินการอย่างเหมาะสมในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์การเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นหรือไม่

    มีการดำเนินการอย่างเหมาะสมตามแนวทางที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้ อีกทั้งยังมีการประเมินจากหน่วยงานระหว่างประเทศอีกด้วย

  • Q
    น้ำประปาในฟุกุชิมะปลอดภัยหรือไม่

    ปลอดภัย และสามารถดื่มได้ด้วย

  • Q
    อยากทราบผลการตรวจสอบกัมมันตภาพรังสีจริง ๆ ที่เป็นผลการตรวจสอบล่าสุด

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แทบจะไม่มีสารใดที่มีค่าเกินกว่าค่ามาตรฐานที่เข้มงวดที่สุดในโลก

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1

  • Q
    เมื่อเปรียบเทียบอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ มีความเสียหายต่างกันอย่างไร

    แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลแล้ว สารกัมมันตรังสีที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจะมีปริมาณน้อยกว่า และ ณ ขณะนี้ยังไม่พบผลกระทบด้านสุขภาพจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี

  • Q
    สภาพปัจจุบันของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างไรบ้าง

    แม้จะมีเศษเชื้อเพลิงหลงเหลืออยู่ แต่ก็มีการรักษาให้อยู่ในสถานะที่เสถียรด้วยการหล่อน้ำอย่างต่อเนื่อง

  • Q
    มีการตรวจสอบอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 เป็นระยะโดยหน่วยงานระหว่างประเทศหรือไม่

    มีการตรวจสอบ (ตรวจประเมิน) มาแล้ว 5 ครั้งโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

  • Q
    หลังจากนี้ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1

    มีการดำเนินงานเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยจะใช้ระยะเวลา 30-40 ปี

น้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS / สารทริเทียม / การเฝ้าระวัง

  • Q
    น้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS คืออะไร มีความแตกต่างจากน้ำที่ปนเปื้อนอย่างไรบ้าง

    “น้ำที่ปนเปื้อน” เป็นน้ำที่สัมผัสกับเศษเชื้อเพลิงในอาคารพลังงานนิวเคลียร์และมีสารกัมมันตรังสีปนอยู่ ส่วน “น้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS” เป็นน้ำที่มีการกำจัดสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สารทริเทียมให้อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานการควบคุมโดยใช้ระบบ ALPS (อุปกรณ์กำจัดนิวไคลด์ต่าง ๆ)

  • Q
    ทำไมจึงต้องปล่อยน้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS ออกมา ควรจะกักเก็บเอาไว้ใช่หรือไม่

    เนื่องจากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่มีการสร้างถังเอาไว้ด้วยเพื่อให้การดำเนินงานปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นไปอย่างปลอดภัยและไม่ล่าช้า

  • Q
    ถ้าน้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS ปลอดภัยจริง ก็ไม่จำเป็นต้องกักเก็บเอาไว้ใช่หรือไม่ สาเหตุที่กักเก็บเอาไว้ก็เพราะไม่ปลอดภัยใช่หรือไม่

    ในทางเทคนิคแล้ว เราสามารถกำจัดทิ้งได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากกระแสข่าวลือ และผลกระทบอื่น ๆ ในทางสังคมแล้ว จึงได้กักเก็บไว้ในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน

  • Q
    มีสารกัมมันตรังสีอื่นที่นอกเหนือไปจากสารทริเทียมปนอยู่ในน้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS ใช่หรือไม่

    ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่กักเก็บในถังมีสารกัมมันตรังสีอื่นที่นอกเหนือไปจากสารทริเทียมปนอยู่ในระดับที่สูงเกินมาตรฐานการควบคุม แต่ในกระบวนการบำบัดจริงนั้น จะทำการบำบัดซ้ำจนกว่าสารกัมมันตรังสีเหล่านี้จะมีค่าอยู่ภายใต้มาตรฐานการควบคุม

  • Q
    สารทริเทียมคืออะไร

    “ทริเทียม (Tritium)” อยู่ในกลุ่มไฮโดรเจนและมีอยู่ทั่วไปรอบตัวเรา

  • Q
    สารทริเทียมเป็นสารกัมมันตรังสี แล้วจะไม่เป็นอันตรายใช่ไหม

    พลังงานกัมมันตรังสีที่เกิดจากสารทริเทียมมีระดับอ่อนมากและจะไม่เป็นอันตรายตราบเท่าที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุม

  • Q
    หากสารทริเทียมสะสมเข้มข้นอยู่ในตัวปลา เมื่อรับประทานปลานั้นเข้าไป จะเป็นอันตรายหรือไม่

    สารทริเทียมจะไม่สะสมเข้มข้นอยู่ในสิ่งมีชีวิต

  • Q
    มีการเฝ้าระวังอย่างไรในการปล่อยน้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS ลงสู่มหาสมุทร

    ในการปล่อยน้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS ลงสู่มหาสมุทรนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเฝ้าระวังน้ำทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ตรวจสอบระดับความเข้มข้นของสารทริเทียมและสารกัมมันตรังสีอื่น ๆ แล้วเผยแพร่ผลการตรวจสอบทางอินเทอร์เน็ต

  • Q
    จะทำอย่างไรหากปล่อยน้ำที่บำบัดด้วยระบบ ALPS ลงสู่มหาสมุทร และเฝ้าระวังพื้นที่ทางทะเลโดยรอบแล้วตรวจสอบพบว่าน้ำที่ปล่อยออกมาไม่ได้กระจายตัวออกไปมากเท่าที่ควร ฯลฯ

    หากเฝ้าระวังพื้นที่ทางทะเลโดยรอบแล้วตรวจสอบพบว่าน้ำที่ปล่อยไปไม่ได้กระจายตัวออกไปมากเท่าที่ควร ฯลฯ เราจะหยุดการปล่อยน้ำในทันที